โครงการการอบรมถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาศักยภาพขององค์กรสตรีที่รับผิดชอบศูนย์ให้คำปรึกษาเพื่อเสริมพลังสตรีระดับจังหวัดและชุมชน และการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีเนื่องในวันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล

        ในวันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องน้ำพราว 1 โรงแรมซีเอส อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี สมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยภายใต้ความร่วมมือกับองค์กร International Rescue Committee โดยความสนับสนุนขององค์กร ECHO จัดโครงการอบรมถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาศักยภาพขององค์กรสตรีที่รับผิดชอบ ศูนย์ให้คําปรึกษาเพื่อเสริมพลังสตรีระดับจังหวัดและชุมชน และการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เนื่องในวันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล ภายใต้โครงการพัฒนากลไกการคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงและพัฒนากลไกการรับมือในภาวะภัยพิบัติ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ รับฟังความเห็นและข้อเสนอในการสรุปผลการทำงานและการถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาศักยภาพของสามองค์กรสตรีที่รับผิดชอบศูนย์ให้คำปรึกษาเพื่อเสริมพลังสตรีระดับจังหวัดและชุมชน และข้อเสนอแนะจากหุ้นส่วนภาคีที่เกี่ยวข้องมาปรับกระบวนการทำงานของสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในการทำงานเสริมพลังอาสาสมัครสตรี และสรุปความเห็นเชิงนโยบายเพื่อเสนอต่อกลไกระดับจังหวัดและหน่วยงานระดับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงเพื่อพิทักษ์สิทธิและศักดิ์ศรีของสตรี

ผู้เข้าร่วมภายในงาน ได้แก่ ผู้นำสตรีและอาสาสมัครจาก ผู้นําสตรี ชมรมผู้นํามุสลิมมะห์ นราธิวาส เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนใต้ หรือ (N-Wave) สมาคมสวัสดิการมุสลีมะฮ์ ยะลา  ผู้แทนจากคณะกรรมการอิสลามทั้ง 3 จังหวัด บาบอ อิหม่าม ผู้แทนราษฎร ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

โดยมีมิสเตอร์ดาร์เรน สกอต เฮิรตซ์ ผู้อํานวยการประจําประเทศไทย องค์การ International Rescue Committee หรือ IRC กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของโครงการพัฒนากลไกการคุ้มครองผู้ถูกกระทําความรุนแรงและพัฒนากลไกการรับมือในภาวะภัยพิบัติ และ รศ. ดร. วิไลภรณ์​ โคตรบึงแก นายกสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย กล่าวรายงานสรุปผลการถอดบทเรียนและประเด็นสำคัญที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาต่อไปในอนาคต พร้อมด้วยนางรอซีด๊ะ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนใต้ หรือ (N-Wave) กล่าวถึงความสำคัญของการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีในทุกรูปแบบและข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการขับเคลื่อนงานด้านการยุติความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนให้ขยายผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

โดยโครงการฯ ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ ท่าน ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในการอบรมฯ และให้โอวาสถึงความสำคัญของการทำงานในประเด็นความรุนแรงต่อผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ให้กำลังใจแก่อาสาสมัครสตรีมุสลิมซึ่งเป็นกลไกการทำงานภาคประชาชนในระดับชุมชนในการเฝ้าระวังและคัดกรองปัญหา ให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า และส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรังฟังข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการเชื่อมต่อความร่วมมือจากองค์กรภาคประชาชนสู่ระบบบริการที่เป็นทางการจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป

Cr. ภาพ: N-Wave และ อสมท. ปัตตานี